บทความ

Image

กินผัก “ลด” Covid19 “ต้าน” NCDs

กินผัก “ลด” Covid19  “ต้าน” NCDs

เมื่อผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว การใช้ชีวิตของคนวัยทำงานเปลี่ยนไปใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้น โครงการจึงอยากชวนมาสำรวจว่าการทำงานที่บ้านส่งผลกับสุขภาพของเราอย่างไร?

จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงกับคนไข้จำนวนของหมอ พบว่า คนไข้เบาหวานบางคนทำอาหารกินเองมากขึ้น มีเวลาออกกำลังกายทำให้น้ำหนักลดลง ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่หลายคนบอกว่า การทำงานที่บ้านทำให้ขยับตัวน้อยลง นอนดึกไม่เป็นเวลา สั่งอาหารดิลิเวอรี่ กินอาหารที่สะดวกแต่ไม่ดีต่อสุขภาพ กินจุกจิกในระหว่างวัน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดก็เพิ่มขึ้นด้วย!!

COVID-19 กับ NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง)

ช่วงแรกที่ COVID-19 ระบาด ในปี 2563 เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ มนุษย์ยังไม่มีภูมิต้านกินทำให้ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ ผู้ที่ติดเชื้อมักอาการไม่รุนแรง แต่ผู้ที่มีอาการหนักหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง นอกจากนี้ข้อมูลจากอเมริกาและฝรั่งเศสยังแสดงว่าผู้ที่มีภาวะอ้วน คือมี ดัชนีมวลกาย > 30 กก/เมตร2 แม้มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็มีอัตราการป่วยที่รุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่มีดัชนีมวลกายปกติ

ที่เป็นอย่างนี้เพราะคนที่เป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ไม่ดี ร่างกายจึงต่อสู้กับเชื้อไวรัสไม่ได้เต็มที่ และเชื้อไวรัสยังอาจจะอาศัยได้ดีในสภาวะที่มีน้ำตาลสูง ทำให้คนไข้เบาหวานมีอาการรุนแรงและมีอัตราการตายสูงขึ้น

ส่วนคนอ้วนปอดจะขยายตัวได้น้อย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนจึงน้อยลงไปอยู่แล้ว และในภาวะอ้วนเซลล์ไขมันจะมีการหลั่งสารกระตุ้นปฏิกริยาการอักเสบของร่างกาย เมื่อติดเชื้อไวรัสปฏิกิริยาการอักเสบอาจจะรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ กลายเป็นผู้ป่วยวิกฤต มีอัตราการตายสูงขึ้นเช่นกัน

การกินอาหารกับระบบภูมิคุ้มกัน

ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ COVID-19 การกินอาหารเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมีความจำเป็นอย่างมาก อาหารที่แนะนำก็คือ ผักผลไม้หลากสี ถั่ว ธัญพืช เมล็ดพืชต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้มีวิตะมิน เกลือแร่ และพฤกษเคมี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ได้แก่ วิตตามิน C A D E  สังกะสี โฟเลต ซีลีเนียม ควอเซติน ผักผลไม้ยังมีกากใยซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ที่ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอีกด้วย และผักผลไม้ก็ช่วยลดความเสี่ยงของโรค NCDs ได้อีกเช่นกัน

ขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป แป้ง น้ำตาล อาหารผัดทอดที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักตัว ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะเจ็บป่วยรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ COVID-19

เปลี่ยนการกินตอนนี้จะทันหรือ??

ไม่มีคำว่าสายสำหรับการดูแลสุขภาพ ร่างกายของเรามีความมหัศจรรย์สามารถปรับเปลี่ยนและเยียวยาตัวเองได้ เมื่อเรากินอาหารให้ครบหมู่และดีต่อสุขภาพเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและน้ำหนักลดลงได้

นอกจากการรักษาระยะห่าง ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากและล้างมือแล้ว การดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่ดี นอนหลับอย่างเพียงพอ ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาวะทางใจ ก็เป็นการเตรียมความพร้อมอีกด้านหนึ่ง เพราะหากร่างกายแข็งแรงแม้จะติดเชื้อ อาการก็จะไม่รุนแรง ไม่เป็นภาระต่อครอบครัว สังคม และระบบสาธารณสุข การดูแลตัวเองจึงเป็นการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน

พญ.ช่อทิพพ์ นาถสุภา พัฒนะศรี แพทย์อายุรกรรมต่อมไร้ท่อ ร.พ. บำรุงราษฎร์

กินผักผลไม้ดี 400 กรัม

รายการแนะนำ